เตรียมตัวก่อนเดินทาง


หนังสือเดินทาง (Passport)

- ขั้นตอนการยื่นขอหนังสือเดินทางใหม่
- บุคคลบรรลุนิติภาวะ
- ระเบียบการขอหนังสือเดินทางของผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี
- ระเบียบการขอหนังสือเดินทางของผู้เยาว์อายุ 15 ปีขึ้นไปแต่ยังไม่ครบ 20 ปี บริบูรณ์
- การรับหนังสือเดินทาง
- หนังสือเดินทางสูญหาย
- การตรวจลงตรา(Visa)
- สถานที่ติดต่อ

หนังสือเดินทางทั่วไป หนังสือเดินทางราชการ
หนังสือเดินทางชั่วคราว หนังสือเดินทางฑูต

ข้อควรปฏิบัติในวันมายื่นคำร้อง
โปรดนำเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาแสดงให้ครบถ้วน โดยเฉพาะการยื่นคำร้องกรณีผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี และ ผู้เยาว์อายุ 15 ปีขึ้นไปแต่ยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ หากเอกสารที่นำมาแสดงไม่ครบถ้วน ท่านจะต้องนำเอกสารดังกล่าวมาแสดงเพิ่มเติมในวันรับเล่ม ซึ่งจะทำให้การรับเล่มล่าช้า เนื่องจากต้องใช้เวลาในการบันทึกข้อมูลเอกสารที่นำมาแสดงเพิ่มเติมลงในระบบให้ครบถ้วน

ขั้นตอนการยื่นขอหนังสือเดินทางใหม่
รับบัตรคิว
ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนที่มีเลข 13 หลัก(หากไม่มีเลข 13 หลัก ต้องนำสำเนาทะเบียนบ้านมาแสดง) พร้อมเอกสารหลักฐานอื่น ๆ ที่จำเป็น อาทิ หากเปลี่ยนชื่อสกุล ต้องมีหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ นามสกุล ทะเบียนสมรส ฯลฯ มาแสดง เพื่อตรวจสอบข้อมูล

- บันทึกข้อมูลชีวภาพ (วัดส่วนสูง เก็บลายพิมพ์นิ้วมือนิ้วชี้ซ้ายและนิ้วชี้ขวาด้วยเครื่องสแกนเนอร์ และถ่ายรูปใบหน้า )

- แจ้งความประสงค์หากต้องการขอรับเล่มทางไปรษณีย์

ชำระค่าธรรมเนียม 1,000 บาท (และค่าส่งไปรษณีย์ 35 บาทหากประสงค์ให้จัดส่งทางไปรษณีย์) รับใบเสร็จรับเงิน และรับใบนัดรับเล่ม


ท่านจะได้รับหนังสือเดินทาง ดังนี้
หากยื่นที่กรมการกงสุล ผู้ร้องสามารถรับหนังสือเดินทางได้ 2 วันทำการไม่นับวันยื่นคำร้อง หากรับทางไปรษณีย์จะได้รับใน 5 วันทำการ

หากยื่นที่สำนักงานสาขาในกรุงเทพฯ (ปิ่นเกล้าและบางนา) ผู้ร้องจะได้รับเล่มภายใน 2 วันทำการไม่นับวันยื่นคำร้อง หากรับทางไปรษณีย์จะได้รับใน 5 วันทำการ

กรณียื่นคำร้องที่สำนักงานสาขาในต่างจังหวัดและขอให้จัดส่งทางไปรษณีย์ผู้ร้อง (ในเขตเมือง) จะได้รับหนังสือเดินทางภายใน 5 วันทำการ

โดยที่กระทรวงฯ ได้ติดตั้งเครื่องอ่านหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์จำลองเพื่อผู้ร้องสามารถทดสอบการผ่านเข้า-ออกท่าอากาศยานโดยอัตโนมัติไว้ 1 เครื่อง ที่กรมการกงสุล ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ขอหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์มารับเล่มด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้ถือหนังสือเดินทางมีความคุ้นเคยกับการใช้หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์และระบบตรวจคนเข้าเมืองอัตโนมัติ

ในกรณีจำเป็น สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นรับแทนหรือให้จัดส่งทางไปรษณีย์ (EMS)


บุคคลบรรลุนิติภาวะ
เอกสารประกอบการขอหนังสือเดินทางธรรมดาของบุคคลบรรลุนิติภาวะ

- บัตรประจำตัวประชาชนที่ยังมีอายุใช้งาน หรือ บัตรข้าราชการ หรือ บัตรประจำตัวที่ใช้แทนตามกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับจริง (ในกรณีที่เป็นบัตรข้าราชการให้นำสำเนาทะเบียนบ้านมาด้วย)

- หากมีรายการแก้ไขชื่อสกุล หรือวันเดือนปีเกิด ฯลฯ ซึ่งไม่ตรงกับบัตรประชาชนให้นำหลักฐานการแก้ไขที่เกี่ยวข้องมาแสดงด้วย

ค่าธรรมเนียม
- การทำหนังสือเดินทางใหม่เสียค่าธรรมเนียม 1,000 บาท



ผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี

ระเบียบการขอหนังสือเดินทางของผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี

ผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องนำสูติบัตรฉบับจริง หากเป็นสำเนาต้องได้รับการรับรองสำเนาถูกต้องจาก อำเภอ/เขตมาแสดงพร้อมผู้มีอำนาจปกครอง หากผู้มีอำนาจปกครองไม่สามารถมาดำเนินการได้ สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทนได้ โดยต้องมีหนังสือมอบอำนาจ และหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ พร้อมทั้งบัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดาและ/หรือผู้มีอำนาจปกครองฉบับจริงมาแสดง ทั้งนี้หนังสือมอบอำนาจและหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศต้องผ่านการรับรองจากอำเภอ/เขต

เอกสารประกอบการขอหนังสือเดินทางธรรมดาของผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี
- สูติบัตรฉบับจริง หากเป็นสำเนาสูติบัตรต้องได้รับการรับรองจากอำเภอ/เขต
- บัตรประจำตัวประชาชนที่ยังมีอายุใช้งาน หรือ บัตรที่ใช้แทนได้ตามกฎกระทรวงมหาดไทย ของบิดา มารดา หรือผู้มีอำนาจปกครองฉบับจริง หากชื่อนามสกุลบิดา มารดาในสูติบัตรไม่ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน ให้นำหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ หรือ นามสกุลที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย ในกรณีที่มารดาหย่า และจดทะเบียนสมรสใหม่ และใช้นามสกุลใหม่ตามสามีให้นำหลักฐานการหย่าและการสมรสที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย

- หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศและบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงของบิดามารดาที่ไม่มา ในกรณีที่บิดา/มารดาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่สามารถมาแสดงตัวได้

- เอกสารอื่น ๆ ที่จำเป็น อาทิ หลักฐานใบเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล เอกสารหลักฐานการรับรอง บุตรหรือรับบุตรบุญธรรม บันทึกการหย่า ซึ่งมีข้อความระบุให้บุตรอยู่ในความดูแลของบิดา หรือมารดา เป็นต้น

- กรณีบิดา มารดาผู้เยาว์เสียชีวิต / บิดาหรือมารดาผู้เยาว์เป็นชาวต่างชาติมิได้จดทะเบียนสมรสและ ไม่สามารถตามหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาให้ความยินยอมได้ / บิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสแต่บุตรอยู่ในความดูแลของบิดาฝ่ายเดียวมาตลอด และไม่สามารถตามหามารดาได้ ให้นำคำสั่งศาลซึ่งระบุชื่อผู้มีอำนาจปกครอง พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจปกครองมาแสดง

ค่าธรรมเนียม
- การทำหนังสือเดินทางใหม่เสียค่าธรรมเนียม 1,000 บาท



ผู้เยาว์อายุ 15 ปีขึ้นไปแต่ยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์

ระเบียบการขอหนังสือเดินทางของผู้เยาว์อายุ 15 ปีขึ้นไปแต่ยังไม่ครบ 20 ปี บริบูรณ์

ผู้เยาว์ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปแต่ยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ที่ทำบัตรประชาชนแล้วสามารถติดต่อขอทำ หนังสือเดินทางด้วยตนเอง โดยมีหนังสือยินยอมของบิดาและมารดา หรือ ผู้มีอำนาจปกครองที่ยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศที่ผ่านการรับรองจากอำเภอ / เขตมาแสดงประกอบการยื่นคำร้อง หากไม่มีหนังสือยินยอม บิดาและมารดาหรือผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ต้องมาลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ในวันที่ยื่นคำร้อง (หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาไม่ได้ ให้มาลงนามในวันรับเล่ม) หรือ มีหนังสือยินยอม จากฝ่ายที่มาไม่ได้มาแสดง เอกสารที่นำมายื่นขอหนังสือเดินทางต้องเป็นต้นฉบับหากเป็นสำเนาต้องผ่านการรับรองสำเนาถูกต้อง จากหน่วยงานที่ออกเอกสารดังกล่าวเท่านั้น



เอกสารประกอบการขอหนังสือเดินทางธรรมดาของผู้เยาว์ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์

- บัตรประจำตัวประชาชนที่ยังมีอายุใช้งาน หรือ บัตรประจำตัวที่ใช้แทนตามกฎกระทรวง มหาดไทย

- หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศที่ผ่านการรับรองจากอำเภอ/เขต และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ปกครองพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง

- เอกสารอื่น ๆ ที่จำเป็น อาทิ หลักฐานใบเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล เอกสารหลักฐานการรับรองบุตรหรือรับบุตรบุญธรรมใบสำคัญการสมรส ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า ทะเบียนบ้าน คำสั่งศาลกรณีระบุผู้มีอำนาจปกครองแทนบิดามารดา เป็นต้น

ค่าธรรมเนียม
- การทำหนังสือเดินทางเสียค่าธรรมเนียม 1,000 บาท



ความหมายของผู้มีอำนาจปกครอง
กรณีบิดาและมารดาจดทะเบียนสมรส บิดาและมารดาต้องมาลงนาม(ต่อหน้าเจ้าหน้าที่)ในคำร้องขอหนังสือเดินทางทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่สะดวกมาลงนามในวันที่ผู้เยาว์ยื่นคำร้อง ให้มาลงนามในวันรับเล่มได้ หรือทำหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ ผ่านอำเภอ/เขต พร้อมบัตรประชาชนที่มีอายุใช้งานบิดา มารดาตัวจริง


- กรณีที่ผู้มีอำนาจปกครองอยู่ในต่างประเทศ ให้ทำหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ ผ่านสถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลไทยในประเทศที่พำนักอยู่ หากผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้ปกครองไม่สามารถมาดำเนินการด้วยตนเองและประสงค์จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทน ต้องมีหนังสือมอบอำนาจ และหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ โดยหนังสือทั้ง 2 ฉบับ ต้องผ่านการรับรองจาก สอท./สกญ. (สถานทูต/สถานกงสุล) กรณีบิดามารดาหย่าตามกฎหมาย ให้ผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ตามที่ระบุในบันทึกการหย่าเป็นผู้ลงนามพร้อมแสดงทะเบียนหย่า และบันทึกการหย่า - ผู้เยาว์ที่เกิดจากบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส มารดาสามารถลงนามได้ฝ่ายเดียว โดยให้ทำ บันทึกคำให้การจากอำเภอ/เขต ยืนยันว่าไม่ได้จดทะเบียนสมรสพร้อมแสดงหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชนที่มีอายุใช้งานเป็น “นางสาว” ต่อเจ้าหน้าที่รับคำร้อง - มารดาผู้เยาว์ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสแต่ใช้คำนำหน้า “นาง” สามารถลงนามได้ฝ่ายเดียว โดย นำหนังสือรับรองการอุปการะบุตรแต่เพียงผู้เดียวจากอำเภอ/เขต มาแสดง

- ผู้เยาว์เกิดจากบิดามารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน มารดาต้องมาลงนามให้ความยินยอม บิดา ไม่สามารถลงนามยินยอมให้ผู้เยาว์เพียงฝ่ายเดียวได้ เว้นแต่ว่ามีคำสั่งศาลมาแสดงว่าศาลให้บิดาเป็นผู้อุปการะผู้เยาว์แต่ผู้เดียว

- บิดามารดาผู้ให้กำเนิดผู้เยาว์ที่ได้ยกผู้เยาว์ให้เป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่นแล้ว ไม่สามารถลงนาม แทนบิดามารดาบุญธรรมได้ต้องให้บิดา มารดาบุญธรรมเป็นผู้ลงนาม - เอกสารที่นำมายื่นขอหนังสือเดินทางต้องเป็นต้นฉบับหากเป็นสำเนาต้องได้รับการรับรองสำเนา ถูกต้องจากหน่วยงานที่ออกเอกสารดังกล่าวเท่านั้น


ข้อควรปฏิบัติในวันมายื่นคำร้อง
กรณีบิดาและมารดาจดทะเบียนสมรส บิดาและมารดาต้องมาลงนาม(ต่อหน้าเจ้าหน้าที่)ในคำร้องขอหนังสือเดินทางทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่สะดวกมาลงนามในวันที่ผู้เยาว์ยื่นคำร้อง ให้มาลงนามในวันรับเล่มได้ หรือทำหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ ผ่านอำเภอ/เขต พร้อมบัตรประชาชนที่มีอายุใช้งานบิดา มารดาตัวจริง




หมายเหตุ
1. หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์มีอายุการใช้งาน 5 ปี ไม่สามารถต่ออายุ เมื่อหมดอายุต้องทำเล่มใหม่เสียค่าธรรมเนียม 1,000 บาท

2. หนังสือเดินทางที่สามารถใช้งานได้จะต้องมีอายุการใช้งาน 6 เดือน โปรดตรวจสอบหนังสือเดินทางของท่าน เพื่อให้มีเวลายื่นคำขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ก่อนกำหนดการการเดินทาง หากมีอายไม่ถึง 6 เดือน จะไม่สามารถใช้เดินทางได้


การรับหนังสือเดินทาง
ประสงค์จะขอให้ผู้อื่นมารับแทน จะต้องทำอย่างไร

- หากมารับด้วยตนเองหรือบุคคลในครอบครัวสามารถใช้บัตรประจำตัวประชาชนพร้อมใบรับหนังสือเดินทาง

- หากให้บุคคลอื่นรับแทนต้องแสดงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ถือหนังสือเดินทาง ใบรับหนังสือเดินทางไปแสดง พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนพร้อมสำเนาของผู้รับแทน

มีการบริการจัดส่งหนังสือเดินทางทางไปรษณีย์หรือไม่

- มี สามารถแสดงความจำนงเมื่อยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทาง ณ ที่ทำการ




หนังสือเดินทางสูญหาย

หากทำหนังสือเดินทางสูญหาย ต้องทำอย่างไร

- สูญหายในประเทศ ต้องติดต่อแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและรับแจ้งความจากเจ้าพนักงาน ตำรวจมายื่นขอทำหนังสือเดินทางฉบับใหม่และยกเลิกการใช้งานหนังสือเดินทางฉบับที่สูญหาย

- สูญหายในต่างประเทศ ต้องแจ้งความหนังสือเดินทางสูญหายต่อทางการท้องถิ่น และนำใบรับแจ้งความดังกล่าวนั้นพร้อมเอกสารแสดงการมีสัญชาติไทยของตนหรือเอกสารทะเบียนราษฎรที่มีอยู่ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน ฯลฯ ไปติดต่อที่สถานทูต สถานกงสุลไทยที่ใกล้ที่สุด เพื่อขอหนังสือเดินทางเล่มใหม่

หากในกรณีที่ผู้ทำหนังสือเดินทางสูญหายต้องการเดินทางกลับประเทศไทยเป็นการเร่งด่วน ไม่สามารถรอรับหนังสือเดินทางได้ สถานทูตสถานกงสุลจะออกเอกสารเดินทาง(Certificate of Identity) ให้ใช้เดินทางกลับประเทศไทยได้ครั้งเดียว เมื่อกลับถึงประเทศไทยแล้วเอกสารเดินทางจะหมดอายุการใช้งาน



การแก้ไขและการทำนิติกรณ์ในหนังสือเดินทาง
หากบุคคลทำการแปลงเพศแล้ว ประสงค์จะแก้ไขคำนำหน้าชื่อ สามารถทำได้หรือไม่
- ไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายไทยถือเพศของบุคคลจากการเกิดเท่านั้น



การตรวจลงตรา(Visa)
หากมีการตรวจลงตรา(visa) ที่ยังมีอายุอยู่ในหนังสือเดินทางฉบับเก่า จะสามารถนำไปผนวกกับเล่มหนังสือเดินทางฉบับใหม่ได้หรือไม่

- ไม่สามารถผนวกเล่มเดิมกับเล่มใหม่ แต่สามารถยื่นคำร้องขอบันทึกการถือหนังสือเดินทางเล่มเดิมในเล่มใหม่ และสามารถนำวีซ่าในเล่มเดิมที่ยังมีอายุใช้งานคู่กับหนังสือเดินทางเล่มใหม่



ทำไมการเดินทางไปต่างประเทศจึงต้องมีหนังสือเดินทางที่มีอายุมากกว่า 6 เดือน

- ถือเป็นหลักปฏิบัติและเป็นกฎเกณฑ์สำหรับบางประเทศที่จะต้องมีหนังสือเดินทางที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนก่อนการเดินทางออกนอกประเทศ หากหนังสือเดินทางกำลังจะหมดอายุก่อน จะต้องต่ออายุ หรือยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทางใหม่ ทังนี้ ควรตรวจสอบกับสถานทูตสถานกงสุลของประเทศที่กำลังจะเดินทางเกี่ยวกับข้อกำหนดต่างๆ ก่อนเดินทาง


สถานที่ติดต่อ

กรมการกงสุล
123 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
โทรศัพท์ 0-2981-7171-99 , 0-2981-7257-8
โทรสาร 0-2981-7256

สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปิ่นเกล้า
อาคารธนาลงกรณ์ทาวเวอร์ (ชั้นใต้ดิน) แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด กทม.10700
โทรศัพท์ 0-2446-8111-2 โทรสาร 0-24468118-9

สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว บางนา
ศูนย์การค้าเซ็ลทรัลซิตี้ บางนา บริเวณลานจอดรถ ชั้น P9
โทรศัพท์ 0-2383-8401-3 โทรสาร 0-2383-8398

สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จังหวัดขอนแก่น
ศูนย์ราชการจังหวัดขอนแก่น ถนนศูนย์ราชการ จังหวัดขอนแก่น
โทรศัพท์ 0-4324-2707, 0-4324-3462, 0-4324-2655 โทรสาร 0-4324-3441

สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จังหวัดเชียงใหม่
ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ถนนโชตนา ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
โทรศัพท์ 0-5389-1535-6 โทรสาร 0-5389-1534

สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จังหวัดสงขลา
ศาลากลางจังหวัดสงขลา (หลังเก่า) ชั้น 1 ถนนราชดำเนิน อ.เมือง จ.สงขลา 9000
โทรศัพท์ 0-7432-6510-1 โทรสาร 0-7432-6506

สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จังหวัดอุบลราชธานี
อาคารสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด
โทรศัพท์ 0-4524-2313-4 โทรสาร 0-4524-2301